ในโลกยุคดิจิทัล … ไม่มีใครที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ จนโทรศัพท์มือถือกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตหรือเป็นอวัยวะที่ 33 ของชีวิตโดยไม่รู้ตัว เพราะโทรศัพท์มือถือสามารถทำได้ทุกอย่าง เป็นทั้งนาฬิกาบอกเวลาและคอยปลุกเตือนให้ตื่น เป็นทั้งเข็มทิศบอกเส้นทาง (GPS) เป็นทั้งสมองที่ช่วยจดจำ เป็นปฏิทิน เป็นเลขาส่วนตัว เป็นเครื่องคิดเลข เป็นแหล่งหาความรู้ เป็นธนาคาร เป็นโรงเรียน เป็นห้องประชุม เป็นโรงภาพยนตร์ เป็นเพื่อนในยามเหงา ฯลฯ
โรคกลัวการขาดมือถือ (Nomophobia) มาจากคำว่า No Mobile + Phobia ซึ่งยังไม่นับเป็นโรคทางจิตเวช แต่เป็นปัญหาทางพฤติกรรมการเสพติดโทรศัพท์มือถือที่ทำให้เกิดความรู้สึกกลัว รู้สึกไม่มั่นใจ รู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้าไปไหน กลัวลืมโทรศัพท์มือถือจนมีอาการย้ำคิดย้ำทำต้องคอยตรวจคอยคลำว่าโทรศัพท์มือถือยังอยู่ไหม กลัวแบตหมดต้องคอยเสียบปลั๊กชาร์ตแบตตลอดเวลา รอคอยไม่เป็นถ้าส่งข้อความถึงใครแล้วไม่อ่านไม่ตอบจะมีอาการหงุดหงิดฉุนเฉียว ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ แม้เวลาที่อยู่ด้วยกันนัดเจอกันแต่กลับไม่คุยกัน ต่างคนต่างแชทคุยกับคนไกลจนลืมคนใกล้ตัว ไม่กล้าเข้าสังคมไม่สบตาใครต้องก้มหน้าคอยตรวจสอบข้อความจนกลายเป็นสังคมก้มหน้า ไม่มองถนนหนทาง ขับรถก็ยังต้องมองโทรศัพท์มือถือจนทำให้เกิดอุบัติเหตุเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น เครียด ขี้หงุดหงิด เหงื่อออก ตัวสั่น คลื่นไส้ ปวดเกร็งบริเวณคอบ่าไหล่ นิ้วล็อค จอประสาทตาเสื่อม หมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนวัย การก้มศีรษะนานจนเส้นประสาทสันหลังบริเวณคอถูกกดทับเป็นเหตุให้มีอาการชาตามแขนหรือมือ โรคอ้วน สมาธิสั้น นอนไม่หลับ เป็นต้น
ดังนั้น ควรจะใช้โทรศัพท์มือถือเท่าที่จำเป็นอย่างชาญฉลาด ใช้อย่างมีคุณค่าจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด เริ่มง่ายๆ แค่ปรับและเปลี่ยนพฤติกรรมโดยแบ่งเวลาใช้งาน ฝึกที่จะหยุดพักสายตา หยุดเสียบหูฟัง หยุดก้มหน้าจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์มือถือ ฝึกเงยหน้ามองสิ่งมีชีวิตที่ยังมีการเคลื่อนไหวรอบตัวเรา ฝึกมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบกาย ฝึกที่จะอยู่นิ่งอย่างสงบสุขได้ด้วยตนเอง
พิชญานิน คลินิก คลินิกสุขภาพใจ บริการวางแผนรักษาโรคทางจิตเวช
โทร. 063-868-9925, 02-853-3863
อีเมล pichayaninclinic@gmail.com
LINE Pichayanin Clinic
Facebook Pichayanin Clinic
Youtube Pichayanin Clinic