จากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์หลังวิกฤติ Covid-19 ทั้งเด็กจบใหม่และคนที่จบมานานมีแนวโน้มจะตกงานกันมากขึ้น ชีวิตที่ขาดรายได้แต่ยังมีค่าใช้จ่ายที่ต้องกินต้องใช้และรับผิดชอบเลี้ยงดูตนเองและคนในครอบครัวก่อให้เกิดความเครียด ทะเลาะกัน จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต
วันนี้จะมาแนะนำวิธีการสัมภาษณ์เพื่อให้ได้งาน ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทุกองค์กรมีที่นั่งจำกัด ดังนั้นองค์กรจึงต้องการคัดเลือก “คนที่ใช่” (Best Fit) ให้เป็นทั้ง “คนเก่งและคนดี” มาทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่ใช่เข้ามาสร้างความปั่นป่วนร้าวฉานหรือทำให้องค์กรถดถอย คนที่ทุกองค์กรต้องการ คือ
- คนเก่ง : ปกติทุกคนก็อยากทำงานในองค์กรที่มีชื่อเสียง มีฐานเงินเดือนดี สวัสดิการเพียบ มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ คำถาม คือ เรามี “คุณสมบัติ” เป็น “คนที่ใช่” หรือไม่ ถ้าเป็นตำแหน่งสำคัญหรือผู้บริหารระดับสูงก็มักจะมีพ่อสื่อแม่สื่อ (Head Hunter) มาเชิญชวนไปทานอาหารที่ร้านหรู เพื่อจีบเรามารับตำแหน่งใหม่ ด้วยการเสนอค่าตัวและสวัสดิการที่สูงมาก แต่ถ้าเป็นตำแหน่งงานทั่วไป…ฝ่ายบุคคลก็จะคัดจากใบสมัคร เลือกคนที่มี Profile ดี จบจากสถาบันฯ ชั้นนำ มีผลการศึกษาที่ดีเลิศ มีคุณวุฒิหรือใบประกาศต่างๆ ถ้าเรายังขาดคุณสมบัติอะไรก็ต้องไปขวนขวายเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสร้าง “จุดเด่น” ใส่ไว้ในใบสมัคร เพื่อสร้าง “โอกาส” ในการถูกเรียกสัมภาษณ์ เช่น ถ้าจะทำงานกับองค์กรข้ามชาติที่ต้องการคนที่มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ/จีน/ญี่ปุ่น ต้องเน้นจุดเด่นคือเรามีประสบการณ์เป็นล่ามในโครงการ …. ระดับประเทศ / หรือมีความสามารถในการใช้โปรแกรม Microsoft ขั้นพื้นฐาน และ ยังสามารถใช้โปรแกรม ….. การออกแบบ …. เป็นต้น
- คนดี : การสัมภาษณ์ คือ การพบหน้ากัน เพื่อประเมินเรื่องบุคลิกภาพ ทักษะไหวพริบ และทัศนคติ โดยทั่วไปจะให้
- แนะนำตนเอง : ต้องมีบุคลิกที่สร้างความประทับใจตั้งแต่แรกพบ (First Impression) เปลือกนอกตั้งแต่การแต่งกาย อิริยาบท การพูดด้วยน้ำเสียงที่ดังฟังชัด แสดงถึงความมั่นใจ แต่ไม่ใช่กร่างหลงตัวเอง และต้องมีบทแนะนำตนเองที่สั้นกระชับ ได้ใจความ ดึงดูดความน่าสนใจที่อยากจะสัมภาษณ์ต่อ
- บอกข้อดี (จุดแข็ง) และ ข้อเสีย (จุดอ่อน) ของตนเองพร้อมแนวทางในการแก้ไข เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราเป็นคนที่ไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเอง
- ภูมิใจที่จะเล่าประวัติความสำเร็จ และ กล้าที่จะเล่าถึงการถอดบทเรียนจากความล้มเหลว
- ลักษณะของเพื่อนสนิท หรือ เพื่อนที่ไม่ชอบ เพราะเพื่อนเป็นเหมือนกระจกเงาของตนเอง
- สามารถบอกเป้าหมายในชีวิต และ วิธีการสู่ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ความเพ้อฝัน
- หากพบปัญหา หรือ อุปสรรค จะมีวิธีในการบริหารจัดการอย่างไร เพื่อให้อยู่รอดและอยู่รุ่ง
- เหตุผลที่ลาออกจากที่เก่า และ เหตุผลที่อยากมาทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับสมัคร ซึ่งควรจะเตรียมข้อมูลของบริษัทใหม่ รายละเอียดของตำแหน่งงานที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจ ใฝ่รู้ และอยากมาร่วมงาน
- ลักษณะพิเศษและความโดดเด่นที่แตกต่างจากคนอื่น ที่บริษัทควรจะพิจารณารับเรา
- ความคาดหวังต่อเงินเดือน/สวัสดิการอะไร เท่าไร เพื่อประเมินศักยภาพและความรับผิดชอบต่อความสำเร็จที่กล้าแลก เพื่อความความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
- มีอะไรจะสอบถามเพิ่มเติม : ควรจะเตรียมคำถาม เพื่อแสดงความกระตือรือร้น และความสนใจที่จะมาร่วมงานอย่างจริงจัง เช่น การแต่งกาย / ที่จอดรถ เป็นต้น
สิ่งสำคัญที่สุดในการสัมภาษณ์ให้ได้งาน คือ "การเตรียมตัวและเตรียมใจ" ซึ่งจะช่วยให้เรามีความมั่นใจ พูดคุยตอบคำถามได้อย่างเป็นธรรมชาติ และ สร้างความประทับใจ ดังนั้นฝ่ายบุคคล (มืออาชีพ) จะคัดประวัติและสัมภาษณ์เลือก “คนที่ใช่” (Best Fit) ที่สุด ไม่ใช่เลือก “คนที่สมบูรณ์แบบ” (Perfect) ที่สุด ซึ่งไม่มีอยู่จริง