ถ้าเปรียบคนเสมือนกับดินสอ ... จะมี “คุณค่า” ต่อเมื่อ ...
- ดินสอจะมี ”คุณค่า“ และยิ่งใหญ่ต่อเมื่อไปอยู่ในมือผู้ใช้ที่เป็น "คนดี" และต้องยอมให้ “ถูกใช้” เพื่อจะได้มีโอกาส “ทำความดี” ได้ทุกที่ ทุกเวลา
- ดินสอจะมี ”คุณค่า“ ต่อเมื่อได้ “รับการเหลา” ให้แหลม ต้องยอมเจ็บปวด เพื่อเปลี่ยนจากคนที่ไม่มีวินัยเป็นคนมีวินัย เปลี่ยนจากคนที่ไม่มีสติปัญญาเป็นคนที่มีสติปัญญา
- ดินสอไม่ได้มีแต่ไส้ดินสอ ส่วนที่ตรงข้ามกับไส้ดินสอ คือ “ยางลบ” ที่คอยเตือนว่า ผิดได้แต่ต้องรู้จักแก้ไข แต่ต้องใช้ยางลบเท่าที่จำเป็น คนที่รู้จักแก้ไข คือ คนฉลาด ซึ่งมี 2 ประเภท คือ
- - คนฉลาดแบบธรรมดา : จะเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง และไม่ทำผิดซ้ำอีก
- - คนที่ฉลาดกว่า : จะเรียนรู้จากความสำเร็จและความผิดพลาดของผู้อื่น
- คุณค่าของดินสอไม่ได้อยู่ที่เปลือกหรือรูปลักษณ์ภายนอก แต่อยู่ที่ “แกนใหญ่ที่ดำสนิท” เปรียบเสมือน “ค่าของคน” ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเนื้อแท้ของจิตใจก็ยังเป็น “คนดี” เป็นคนที่มี ศีล สมาธิ ปัญญา
- คุณค่าของดินสอจะไม่เคยหยุดเขียน ไม่เคยหยุดทำความดี จะทำประโยชน์ในทุกลมหายใจเท่าที่จะทำได้ เปรียบเสมือนคนที่จบเป็นบัณฑิต ไม่ใช่มาเพื่อมารับกระดาษแผ่นเดียว (ใบปริญญา) แต่มาเพื่อใช้ความรู้ความสามารถออกไปสร้าง “คุณค่า” ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ
ดินสอที่มี “แท่งเหลี่ยม” จะสวยงามและมีคุณค่ากว่าดินสอแท่งกลมที่ลื่น ใครหยิบจับก็ไม่ได้ เตือนสติก็ไม่ได้ แต่ดินสอแท่งเหลี่ยมได้ผ่านกาลเวลาในการขัดเกลา และยอมถูกเหลาให้มีสติปัญญาที่แหลมตลอด เปรียบเสมือนคน ที่เป็น “คนเก่ง และ คนดี” จะอยู่ที่ไหนก็อยู่อย่างมีเกียรติและมีคุณค่า ชีวิตก็จะมีแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า เป็นที่เคารพนับถือของทุกคนตลอดไป
*เทศนาธรรม เรื่อง “คุณค่า ... ของดินสอ” ในพิธีทำบุญฉลองปริญญาผู้สำเร็จการศึกษา โดย ศาสตราจารย์ ดร.พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.๙, Ph.D.) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2566 ... กราบคารวะพระอาจารย์