Copycat เป็นคำแสลงที่มีความหมายเชิงลบ หมายถึงคนที่ชอบลอกเลียนแบบคนอื่น คนที่อยากมีตัวตนแต่ไม่มีความมั่นใจ อยากเป็นที่ยอมรับจึงต้องลอกเลียนแบบคนอื่นจนไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิด การพูด หรือการกระทำ ไม่สนใจว่าการลอกเลียนแบบนั้นจะเป็นพฤติกรรมลบที่ก่อให้เกิดปัญหา ส่งผลเสียกระทบต่อตนเอง ครอบครัว หรือสังคม
ปัจจุบัน การลอกเลียนแบบที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมและเป็นปัญหาสังคม คือ การที่นักเรียนยกพวกตีกัน ทำร้ายกัน ฟันกัน ยิงกัน ฆ่ากัน ฯลฯ ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันหรือไม่เคยมีปัญหากันมาก่อน ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนที่มีความเปราะบาง ไม่มี "ภูมิคุ้มกันโลก" ยิ่งเข้ามาเรียนในสถาบันที่มีการปลูกฝังความคิดผิดๆ จากรุ่นพี่ที่สืบทอดต่อๆ กันมา นักเรียนก็ต้องจำใจยอมทั้งๆ ที่ไม่เห็นด้วย เพราะกลัวการไม่ถูกยอมรับ กลัวความปลอดภัย กลัวจะไม่ได้เรียนต่อ จึงจำใจต้องยอมทำทุกอย่างแบบพวกมากลากไป กลายเป็นปัญหาสังคมที่เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นภัยใกล้ตัวที่
เกิดเหตุร้ายได้ในทุกที่ทั้งในห้างสรรพสินค้า, บนท้องถนน (street violence) ฯลฯ มีการท้าทายกัน แข่งขันกันล่าเหยื่อ เพื่อเก็บแต้ม หรือ มีการประทับตราสัญลักษณ์ต่างๆ บนผิวหนัง เสมือนการอวยชั้นยศและได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำทัพ
เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับนักเรียนที่เป็น copycat ... ทุกคนก็อยากเป็นคนเก่งและคนดี ไม่มีใครอยากเป็นปัญหาสังคม แต่สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย เกิดมาในบ้านที่ไม่ใช่บ้าน เรียนในโรงเรียนที่ไม่ใช่โรงเรียน ไม่รู้สึกอบอุ่นและไม่ปลอดภัย ทำให้ต้องต่อสู้ดิ้นรน กระเสือกกระสน เพื่อความอยู่รอด เมื่อไปคบคนพาล (อันธพาล) ก็พาลพาไปหาผิด ทั้งคบผิดคน อยู่ผิดที่ ไปผิดทาง ทำผิดวิธี จนถอนตัวไม่ขึ้น ดังนั้น การป้องกันเพื่อยุติปัญหาอาชญากรรมจากการลอกเลียนแบบที่ผิดๆ จึงจำเป็นจะต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย
1.พ่อแม่ ผู้ปกครอง
- - พ่อแม่ ผู้ปกครอง คือ หัวใจสำคัญที่จะยุติการลอกเลียนแบบที่ผิดๆ พ่อแม่นอกจากจะให้ชีวิตแล้วต้องให้ "เวลาที่มีคุณภาพ" ให้ความรักความอบอุ่นและเป็น "แบบอย่างที่ดี" เพราะนักเรียนที่เติบโตมาจากครอบครัวที่มีปัญหา เช่น พ่อแม่แยกทางกัน ยุติการเป็นสามีภริยาได้แต่ไม่ควรยุติความเป็นพ่อและแม่ ทอดทิ้งลูก (Neglect) หรือ ใช้ความรุนแรงกัน ทำร้ายร่างกายและจิตใจเด็ก (Child Physical and Emotional Abuse) หรือ ล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Abuse) ฯลฯ นักเรียนจึงลอกเลียนแบบทั้งความคิดและพฤติกรรมลบ เกิดความเครียด ความคับข้องใจ ความโกรธ แล้วมาระบายโดยกระทำกับผู้อื่น มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) นักเรียนบางคนก็อยู่ในครอบครัวอย่างไร้ตัวตน ไม่มีความมั่นใจ ไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง (Low Self Esteem) รู้สึกโดดเดี่ยว กลัว จึงทำตัวเด่น กร่าง เป็นอันธพาลครองเมือง เพื่อเติมเต็มความสุขของตนบนความทุกข์ของผู้อื่น หรือถ้าตนมีความสุขไม่ได้ คนอื่นก็ไม่ควรมีความสุขเช่นกัน
- - พ่อแม่รังแกฉัน ==> จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย : ทุกครั้งที่เกิดปัญหา คนที่ต้องมารับผิด คือ นักเรียนที่จะถูกส่งตัวไปที่สถานพินิจฯ (เยาวชน) หรือ ถูกคุมขังดำเนินคดี พ่อแม่ ผู้ปกครองก็จะหายสาบสูญ ไม่เคยมาเยี่ยมเยียน ดังนั้นการจะยุติปัญหาต้องให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ไม่ดูแล ไม่รับผิดชอบปล่อยให้นักเรียนไปสร้างปัญหาจะต้องถูกดำเนินคดีเช่นกัน เพราะนักเรียนบางคนก็รู้ผิดชอบชั่วดี แต่ตั้งใจจะสร้างเรื่องและคดีต่างๆ เพื่อให้ตำรวจและสื่อมวลชนไปช่วยกันขุดคุ้ยประวัติพ่อแม่ ผู้ปกครอง จะได้เสียชื่อเสียง รู้สึกอับอาย เจ็บปวด และไม่ลืมว่ายังมีลูกคนนี้ที่ถูกลืม
2.สถาบันการศึกษา และ ครู
- - ต้องคัดกรองทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครองที่จะต้องให้ความร่วมมือช่วยกันดูแลนักเรียน เพราะครอบครัวที่มีปัญหามักจะหนีปัญหา โดยเอานักเรียนมาปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นภาระหน้าที่ของครู ไม่สนใจ ไม่ดูแล ส่งผลกระทบต่อจิตใจและการเรียนรู้ ยิ่งพ่อแม่ที่ถูกเชิญมาพบครูแล้วไม่มาไม่ให้ความร่วมมือ ยิ่งทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนถูกทอดทิ้ง เป็นส่วนเกินที่ไม่มีใครต้องการ โกรธ เกลียดสังคม มีชีวิตอยู่อย่างไร้ค่า ไร้ความหมาย จึงหันไปคบเพื่อนที่มีปัญหา มั่วสุม เพื่อคลายความทุกข์
- - มีมาตรการการป้องกันไม่ให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมความเกลียดชังระหว่างสถาบันฯ การกลั่นแกล้ง ข่มเหงรังแกผู้อื่นให้อับอายและเป็นทุกข์ หากพบสัญญาณเตือนว่านักเรียนคนนั้นมีปัญหาด้านจิตใจ จำเป็นต้องช่วยเหลือ ประสานงานกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อให้การดูแล รักษา ก่อนจะสายเกินแก้ ครูจึงมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการให้ "ความรู้คู่คุณธรรม" ให้นักเรียนเป็น "คนเก่ง และ คนดี" เติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม
3.สื่อมวลชน :
- - นำเสนอข่าวด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวความรุนแรงอย่างละเอียดหรือการนำเสนอข่าวที่ไปกระตุ้นความสนใจและเร้าอารมณ์ให้เกิดความรู้สึกร่วม จนเกิดการลอกเลียนแบบ หรือการแก้แค้นกันอีก
- - ควรจะนำเสนอข้อมูลความรู้และช่องทางขอความช่วยเหลือสำหรับผู้ที่กำลังมีความทุกข์ใจ ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง นักเรียน ครู ซึ่งสามารถขอรับคำปรึกษาทางสายด่วนสุขภาพจิต โทร 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง