เวลาทำการ : วันจันทร์ - วันศุกร์ 10.00-20.00 | วันเสาร์ - วันอาทิตย์ 10.00-20.00
เวลาทำการ : วันจันทร์ - วันศุกร์ 10.00-20.00
วันเสาร์ - วันอาทิตย์ 10.00-20.00
วิธีการดูแลตัวเองเมื่อเผชิญกับโรควิตกกังวล

วิธีการดูแลตัวเองเมื่อเผชิญกับโรควิตกกังวล

เรียนรู้และทำความเข้าใจโรควิตกกังวล พร้อมแนวทางการดูแลตัวเองเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี

ความวิตกกังวลเป็นความรู้สึกทางใจที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยแวดล้อมในปัจจุบันหรือผลจากเหตุการณ์ในอดีต แต่การปล่อยให้โรควิตกกังวลครอบงำชีวิตเป็นเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งกายและใจได้ ดังนั้นการดูแลตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การจัดการความคิด หรือการมองหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ การดูแลตัวเองจะช่วยให้เราสามารถควบคุมความวิตกกังวลและกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้อีกครั้ง


โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) คืออะไร

โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) คือ ปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดในบางสถานการณ์ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายพร้อมรับมือกับปัญหาหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ผู้ป่วยจะมีปฏิกิริยาตอบสนองมากเกินกว่าปกติจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

สาเหตุของโรคนี้เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น

  1. พันธุกรรมของครอบครัว: หากพ่อแม่เป็นโรควิตกกังวล ลูกก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ด้วยเช่นกัน
  2. สารเคมีในสมองไม่สมดุล: สารสื่อประสาทและฮอร์โมนหลายชนิดส่งผลต่อความรู้สึกวิตกกังวล อย่างนอร์เอพิเนฟริน เซโรโทนิน โดพามีน และกรดแกมมา-อะมิโนบิวทีริก (GABA) ความไม่สมดุลของสารเคมีเหล่านี้อาจทำให้เกิดโรควิตกกังวลได้
  3. การเปลี่ยนแปลงทางสมอง: ส่วนหนึ่งของสมองที่เรียกว่าต่อมอะมิกดาลา (Amygdala) มีหน้าที่สำคัญในการจัดการความกลัวและความวิตกกังวล การศึกษาพบว่าผู้ที่เป็นโรควิตกกังวล จะมีอัตราการทำงานของต่อมดังกล่าวสูงผิดปกติเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่เข้ามากระตุ้น
  4. ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ: สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู ความเครียดรุนแรงหรือเครียดสะสมเป็นเวลานาน รวมถึงการประสบกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ มีส่วนทำให้สมดุลของสารสื่อประสาทเปลี่ยนไป จนทำให้เกิดโรควิตกกังวลได้เช่นกัน


โรควิตกกังวลอาการเป็นอย่างไร

อาการของโรคมีทั้งอาการทางจิตและอาการที่แสดงออกทางร่างกาย อาจเกิดขึ้นแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคลหรือประเภทของโรค ส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการดังต่อไปนี้

อาการทางจิตใจ เช่น

  1. ควบคุมความคิดของตัวเองไม่ได้ ถูกความคิดแง่ลบครอบงำ
  2. รู้สึกตื่นตระหนก หวาดกลัว ไม่สบายใจ
  3. รู้สึกไม่พอใจ หงุดหงิดง่าย
  4. ไม่มีสมาธิ สมาธิสั้นลง

อาการทางร่างกาย เช่น

  1. กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข
  2. ใจสั่น หายใจหอบถี่
  3. มือเท้าเย็น มีเหงื่อออก
  4. กล้ามเนื้อตึงเครียด
  5. ปากแห้ง คอแห้ง
  6. มือเท้าชา
  7. คลื่นไส้ อาเจียน
  8. นอนไม่หลับ


โรควิตกกังวลมีกี่ประเภท

โรควิตกกังวลแบ่งออกได้ 5 ประเภทหลัก เช่น

  1. โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder - CAD)
    ความเครียดและความกังวลในชีวิตประจำวันอย่างเรื่องงาน เรื่องครอบครัว หรือความสัมพันธ์
    หากปล่อยให้ความรู้สึกเหล่านี้สะสมเป็นเวลานานก็อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจและร่างกาย
    นำไปสู่ปัญหาในการใช้ชีวิต ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง

  2. โรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder - PTSD)
    หลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนในอย่างภัยพิบัติร้ายแรง อุบัติเหตุเฉียดตาย ถูกทำร้าย หรือพบเห็นการ
    กระทำรุนแรงต่อคนใกล้ตัว อาจส่งผลให้เกิดภาวะที่เรียกว่า PTSD ซึ่งเป็นโรคเครียดหลังจากพบกับเหตุการณ์รุนแรง อาจเกิดความหวาดกลัวและมีปฏิกิริยาที่รุนแรงเมื่อสัมผัสสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น

  3. โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder - OCD)
    เป็นอาการของการคิดซ้ำ ๆ และตอบสนองต่อความคิดนั้นด้วยการกระทำซ้ำ ๆ ด้วยความวิตกกังวล เช่น กังวลว่าลืมล็อกรถและต้องคอยเช็กซ้ำไปซ้ำมาว่าล็อกรถแล้วหรือยัง เป็นต้น

  4. โรคแพนิก (Panic Disorder - PD )
    แพนิกคืออาการหวาดกลัวและวิตกกังวลที่อาจเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ โดยไม่มีสาเหตุ เมื่อเกิดแพนิกร่างกายจะแสดงอาการผิดปกติอย่างใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ร้อนหรือหนาววูบวาบ กังวลว่าตัวเองจะตาย เป็นต้น โรคแพนิกไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและส่งผล กระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วยอย่างมาก

  5. โรคกลัว (Phobias)
    โฟเบียหรือโรคกลัว เป็นอาการกลัวแบบเฉพาะเจาะจงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินกว่าปกติ เช่น กลัวเลือด กลัวที่แคบ กลัวความสูง เป็นต้น


วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรควิตกกังวล

เมื่อต้องเผชิญกับการเป็นโรควิตกกังวล สามารถดูแลตัวเองเพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีความสุขได้ ดังนี้

  1. จัดการความเครียด
    ความเครียดเรื้อรังหรือรุนแรงมีส่วนทำให้อาการวิตกกังวลแย่ลง ลองศึกษาเทคนิคการจัดการความเครียด เช่น การทำสมาธิ การฝึกลมหายใจ และการออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ลดความกังวลที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ทำให้รู้สึกมีความสุขและสงบขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ไม่พึงประสงค์

  2. เข้าร่วมกลุ่มสนับสนุน
    การเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนเป็นการสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงกับผู้อื่นที่มีอาการแบบเดียวกับเรา ช่วยให้เราได้แบ่งปันประสบการณ์ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แชร์ความรู้สึก รวมถึงเรียนรู้แนวทางการรับมือที่แตกต่างกันจากคนอื่นได้

  3. เรียนรู้และทำความเข้าใจ
    เรียนรู้และทำความเข้าใจสาเหตุและอาการของโรคที่เราเป็นไปพร้อมกับคนรักหรือคนในครอบครัว เพื่อให้สามารถรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นอย่างเข้มแข็ง นอกจากนี้การสนับสนุนจากคนใกล้ชิดยังมีส่วนช่วยทำให้ภาวะวิตกกังวลดีขึ้นด้วย

  4. ลด ละ เลิก เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
    คาเฟอีนทำให้อาการวิตกกังวลที่เกิดขึ้นทางร่างกายแย่ลง ดังนั้นลองปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรับระดับการบริโภคคาเฟอีนให้เหมาะสม หรือลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนได้จะดีที่สุด

  5. ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ
    กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนเพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำกิจกรรมผ่อนคลาย หางานอดิเรกยามว่าง ฝึกสติ และทำสมาธิเพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง การดูแลตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจอย่างมีคุณภาพจะช่วยให้สามารถรับมือกับอาการวิตกกังวลรวมถึงใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข

  6. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
    อย่าอายหรือลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างและผู้เชี่ยวชาญ การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทำให้เรามีความมั่นใจและสามารถหาแนวทางรับมือกับอาการวิตกกังวลได้อย่างเหมาะสม

โรควิตกกังวลเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยในสังคมปัจจุบัน การดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอเป็นกุญแจสำคัญเพื่อบรรเทาอาการของโรค ช่วยให้เรากลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข สิ่งสำคัญที่สุดคืออย่าปล่อยให้ความวิตกกังวลครอบงำชีวิต ขอแค่เชื่อมั่นในตัวเองและเริ่มต้นดูแลตัวเอง หันมารักตัวเองมากขึ้น ก็จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับความวิตกกังวลที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้

ที่พิชญานิน คลินิก (คลินิกสุขภาพใจ) ยินดีให้คำปรึกษาปัญหาโรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ โรคซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น โรคแพนิค ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาความรัก และปัญหาทางจิตเวชที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ บริการดูแลครอบคลุมทางจิตเวช ทุกช่วงวัยแบบครบวงจร (One Stop Services) มีการตรวจประเมินสุขภาพจิตอย่างละเอียด ตั้งแต่การซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจระบบประสาท และประเมินศักยภาพสมอง ผู้รับบริการจะได้รับความรู้ความเข้าใจในภาวะโรค และมีบทบาทในการวางแผนการรักษาร่วมกัน ทั้งในส่วนการรักษาด้วยยา และการทำจิตบำบัด ช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าใจตนเองและผู้อื่น เรียนรู้ ปรับตัว สามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขอย่างยั่งยืน

พิชญานิน คลินิก คลินิกสุขภาพใจ บริการวางแผนรักษาโรคทางจิตเวช
โทร. 063-868-9925, 02-853-3863
อีเมล pichayaninclinic@gmail.com
LINE Pichayanin Clinic
Facebook Pichayanin Clinic
Youtube Pichayanin Clinic