เวลาทำการ : วันจันทร์ - วันศุกร์ 10.00-20.00 | วันเสาร์ - วันอาทิตย์ 10.00-20.00
เวลาทำการ : วันจันทร์ - วันศุกร์ 10.00-20.00
วันเสาร์ - วันอาทิตย์ 10.00-20.00
วิธีการตรวจ และการประเมิน การวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับ

วิธีการตรวจ และการประเมิน การวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับ

เจาะลึกแนวทางการดูแลตนเองอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อมีความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคนอนไม่หลับ

โรคนอนไม่หลับ หรือ Insomnia เป็นหนึ่งในความผิดปกติที่สามารถพบเจอได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย โดยอาการดังกล่าวนี้ไม่เพียงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยล้าในตอนช่วงเช้า แต่ยังส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต รวมถึงประสิทธิภาพในการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นแล้ว หากพบว่าตนเองกำลังประสบกับปัญหาการนอนไม่หลับ การเข้ารับการวินิจฉัยและประเมินภาวะการนอนไม่หลับโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการช่วยทำให้เราสามารถเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา อีกทั้งยังสามารถเลือกวิธีการจัดการหรือรักษาได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


อาการและประเภทของโรคนอนไม่หลับ

โดยทั่วไปแล้ว อาการหลัก ๆ ของโรคนอนไม่หลับจะมีความเกี่ยวข้องกับการมีปัญหาในการนอนหลับ อาทิ การนอนหลับยาก ตื่นกลางดึกแล้วไม่สามารถนอนหลับต่อได้ รวมถึงการเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้าทั้ง ๆ ที่นอนหลับอย่างเพียงพอ เนื่องจากผู้ป่วยด้วยโรคนอนไม่หลับมักจะรู้สึกตื่นตัวในระหว่างช่วงกลางคืนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งจะนำไปสู่การทำให้เกิดความรู้สึกอ่อนล้าในช่วงเวลากลางวันจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งการทำงานหรือการเรียน โดยอาการนอนไม่หลับจะสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ 

  1. โรคนอนไม่หลับช่วงเริ่มต้น (Initial Insomnia) : เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมักจะเริ่มต้นนอนหลับได้ยากและต้องใช้เวลานานกว่าปกติในตอนกลางคืน โดยอาจกินเวลานานเป็นชั่วโมงหรือมากกว่านั้นถึงจะสามารถหลับได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้มักมีสาเหตุมาจากความเครียด ความกังวล หรือสภาวะทางจิตใจที่ทำให้สมองตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาแม้ว่าร่างกายจะเหนื่อยล้าแล้วก็ตาม

  2. โรคนอนไม่หลับระหว่างคืน (Maintenance Insomnia) : เป็นภาวะที่ผู้ป่วยสามารถนอนหลับได้อย่างปกติในช่วงแรกแต่มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการตื่นนอนในช่วงกลางดึกอยู่บ่อยครั้ง โดยเมื่อตื่นแล้วผู้ป่วยมักจะไม่สามารถกลับไปนอนหลับต่อได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการนอนหลับที่ขาดความต่อเนื่องนั้นก็จะส่งผลให้ร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอและไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มที่ โดยทั่วไปแล้วสาเหตุดังกล่าวมักจะมาจากปัจจัยภายใน อาทิ ความเครียด เสียงรบกวน หรือสภาพแวดล้อมในการนอนหลับที่ไม่เหมาะสม

  3. โรคนอนไม่หลับที่เกี่ยวข้องกับการตื่นนอนเร็วกว่าปกติ (Terminal Insomnia) : เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมักจะตื่นนอนเร็วกว่าปกติโดยที่ไม่สามารถกลับไปนอนต่อได้อีกแล้ว แม้ว่าจะตื่นนอนแล้วรู้สึกว่ายังไม่สดชื่นหรือพักผ่อนไม่เพียงพอก็ตาม โดยอาการดังกล่าวนี้มักจะพบได้ในผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจ อาทิ ภาวะซึมเศร้า (Depression) ซึ่งมักจะมีผลต่อระบบประสาทที่ควบคุมการนอนหลับและการตื่นนอน จนทำให้ผู้ป่วยที่มีภาวะดังกล่าวนี้มักจะรู้สึกว่าช่วงเช้าเป็นช่วงเวลาที่หดหู่และเหนื่อยล้า


วิธีการตรวจสอบและการประเมินโรคนอนไม่หลับ

การตรวจวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับจำเป็นที่จะต้องมีการพิจารณาจากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการประเมินด้านจิตวิทยา การตรวจร่างกาย รวมถึงประวัติการนอนหลับของผู้ป่วย เพื่อการได้มาซึ่งผลการตรวจสอบที่มีความแม่นยำมากที่สุด

  1. การพูดคุยและตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับ
    ในการตรวจวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับในลำดับแรก ทางทีมแพทย์จะทำการสอบถามถึงพฤติกรรมการนอนหลับ ปัญหาการนอนหลับที่กำลังประสบ การบริโภคคาเฟอีนหรือการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการตรวจร่างกายเพื่อค้นหาสัญญาณของปัญหาทางการแพทย์ที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับโรคนอนไม่หลับ นอกจากนี้ ทีมแพทย์ยังอาจให้ผู้ป่วยจดบันทึกพฤติกรรมการนอน (Sleep Diary) ซึ่งเป็นการจดบันทึกเวลาที่เข้านอน ตื่นนอน และจำนวนครั้งที่ตื่นกลางคืนอย่างต่อเนื่องประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการวิเคราะห์และประเมินอาการ

  2. การใช้แบบประเมินการนอนหลับ (Sleep Questionnaires) เพื่อวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับ
    ทีมแพทย์อาจมีการเลือกใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับโรคนอนไม่หลับ เพื่อประเมินสภาพการนอนหลับ อาทิ

    1. Insomnia Severity Index หรือ ISI ซึ่งเป็นแบบสอบถามที่ใช้ในการประเมินระดับความรุนแรงของอาการนอนไม่หลับ โดยหากผู้ป่วยได้ 15 คะแนนขึ้นไป จะสามารถบ่งชี้ได้ว่าผู้ป่วยกำลังประสบกับโรคนอนไม่หลับในระดับปานกลางถึงรุนแรง

    2. Epworth Sleepiness Scale หรือ ESS เป็นแบบทดสอบที่ถูกนำมาใช้ในการประเมินระดับความง่วงนอนในช่วงเวลากลางวัน ซึ่งจะช่วยให้การแยกแยะระหว่างโรคนอนไม่หลับและปัญหานอนหลับอื่น ๆ อาทิ ภาวะนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  3. การประเมินด้านจิตวิทยาและจิตเวชเพื่อวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับ
    ในบางครั้งการนอนไม่หลับอาจเป็นผลมาจากความเครียดหรือภาวะจิตเวช อาทิ ซึมเศร้า (Depression) หรือกังวล (Anxiety) ส่งผลให้ทีมแพทย์จึงมักจะทำการประเมินสภาวะจิตใจโดยการใช้แบบสอบถามหรือการสัมภาษณ์ในเชิงลึกร่วมด้วย เพื่อประโยชน์ในการช่วยประเมินความเครียด ความวิตกกังวล และอาการของโรคจิตเวชอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุที่แท้จริงของโรคนอนไม่หลับ

  4. การทดสอบในห้องปฏิบัติการนอนหลับ (Polysomnography) เพื่อวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับ
    การทดสอบโรคนอนไม่หลับดังกล่าวนี้จะเป็นการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการนอนหลับทั้งหมดในระยะเวลา 1 คืน โดยทีมแพทย์จะทำการตรวจจับคลื่นสมอง อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ การเคลื่อนไหวของดวงตา และการทำงานของกล้ามเนื้อ เพื่อตรวจจับความผิดปกติของการทำงาน ร่วมกับการวินิจฉัยปัญหาการนอนหลับที่ซับซ้อน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีโรคทางกายอื่นร่วมด้วย อาทิ โรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) เป็นต้น


วิธีการรักษาโรคนอนไม่หลับอย่างมีประสิทธิภาพ

  1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนเพื่อรักษาโรคนอนไม่หลับ โดยควรเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดียวกันทุกวันเพื่อให้ร่างกายสามารถปรับตัวให้คุ้นชินกับพฤติกรรมการนอนหลับที่มีคุณภาพได้ ร่วมกับการหลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีนในช่วงบ่ายและเย็น และลดการใช้โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ที่มีแสงสีฟ้าก่อนเข้านอน

  2. การใช้ยารักษาโรคนอนไม่หลับ โดยในบางกรณี ทางทีมแพทย์อาจพิจารณาถึงการใช้ยาเพื่อช่วยในการนอนหลับ อาทิ ยากลุ่มเบนโซไดอาซีปีน (Benzodiazepines) หรือยาต้านความซึมเศร้า ที่จะช่วยให้สามารถนอนหลับได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ยาควรอยู่ในความควบคุมของแพทย์อย่างใกล้ชิดและควรใช้ในระยะสั้นเท่านั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดยา

  3. การบำบัดโรคนอนไม่หลับด้วยจิตวิทยา (Cognitive Behavioral Therapy for Insomnia: CBT-I) โดย CBT-I เป็นวิธีการบำบัดที่ได้รับการรับรองว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการรักษาโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง เนื่องจากวิธีดังกล่าวนี้จะไม่ใช้ยาในการรักษาโรคนอนไม่หลับ แต่จะมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมเกี่ยวกับการนอนหลับ อาทิ การควบคุมเวลาในการนอน และการปรับความคิดให้เหมาะสมต่อการนอนหลับ เพื่อช่วยส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการนอนหลับที่ดีและมีคุณภาพมากขึ้น

โรคนอนไม่หลับเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยหากโรคดังกล่าวเกิดขึ้นและแสดงอาการเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การเข้ารับการตรวจสอบและวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับอย่างละเอียดก็นับได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากในการเข้าใจถึงสาเหตุและระดับความรุนแรงของปัญหา เพื่อการเลือกวิธีการรักษาและจัดการที่เหมาะสมจนนำไปสู่การช่วยแก้ไขปัญหาการนอนไม่หลับได้อย่างถาวร

ที่พิชญานินคลินิก คลินิกสุขภาพใจ ยินดีให้คำปรึกษาปัญหาโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ โรคสมาธิสั้น โรคแพนิค รับปรึกษาปัญหาความรัก และปัญหาสุขภาพจิต จิตเวช จิตบำบัด ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ บริการดูแลครอบคลุมทั้งบริการทางจิตเวชทั่วไปในเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ มีการตรวจประเมินสุขภาพจิตอย่างละเอียด ทั้งด้านการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ระบบประสาท และประเมินศักยภาพสมอง สามารถให้คำปรึกษาในกลุ่มอาการหลากหลายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคุณ หรือคนที่คุณรัก เพื่อเพิ่มสมาธิให้กับจิตใจ และทำให้คุณได้ใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ ในชีวิตมากขึ้น ผู้รับบริการจะได้รับความรู้ความเข้าใจในภาวะโรค และมีบทบาทในการวางแผนการรักษาร่วมกัน ทั้งในส่วนการรักษาด้วยยา และการทำจิตบำบัด 

พิชญานิน คลินิก คลินิกสุขภาพใจ บริการวางแผนรักษาโรคทางจิตเวช
โทร. 063-868-9925, 02-853-3863
อีเมล pichayaninclinic@gmail.com
LINE Pichayanin Clinic
Facebook Pichayanin Clinic
Youtube Pichayanin Clinic